วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน นายกสมาคมนักเรียนไทยไคโรฯคนที่ 49

     ทุกๆประเทศทุกๆจังหวัดหรือทุกๆทุกๆหมู่บ้านและทุกๆ กลุ่มต้องมีผู้นำเป็นตัวขับเคลื่อนของสังคมที่อยู่ร่วมกัน ผู้นำคือบุคคลสำคัญที่จะเป็นตัวแทนและเป็นภาพลักษณ์ให้แก่สังคมนั้นๆเป็นอย่างดีหากผู้นำดีทั้งชื่อเสียงหน้าตาความรู้ความสามารถก็เท่ากับการสร้างภาพสะท้อนเห็นให้สังคมนั้นๆ มีค่าเท่ากับรูปลักษณ์ที่ผู้นำแสดงให้สาธารณชนได้เห็น ผู้นำจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญต่อกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าในระดับใด

    วันนี้ผู้นำคนใหม่ของสมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโรในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “นายกสมาคม” จากนักเรียนกว่า 2,000 คน และมากกว่า 50 ชมรม ได้รับการคัดเลือก เขาคนนั้นคือ “ศักดิ์ดา โซ๊ะเฮง” หรือเรียกกันในหมู่สังคมมุสลิมว่า “บุญญามีน” เป็นคนตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นลูกคนที่ 8 ของพี่น้อง 9 คน ของ สง่า แม่ ชื่อดรุณี มีอาชีพทำนา

                   จบป.6 จากเรียนสุเหร่าคลอง 15 (สมายะประชาสรรค์) จ.ฉะเชิงเทรา  ม.3 ที่โรงเรียนดอนฉิมพลีพิทยาคม และตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ส่วนด้านศาสนาระดับตอนต้นที่โรงเรียนอิสลามบำรุงศาสน์บางมะเขือ และจบม.ปลายจากสองสถาบันคือโรงเรียนอิสลามบำรุงศาสน์ กรุงเทพฯ และโรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนี้ยะห์ บ้านดอน กรุงเทพ กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ปี 4 ในคณะศาสนศาสตร์ (กุลลียะห์อุซูลุดดีน) ด้านการเผยแพร่อิสลาม  

                   เคยสอนอิสลามศึกษาในระดับประถมในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นครูศาสนา คลุกคลีการทำกิจกรรมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น การทำโครงการพัฒนาผู้สูงอายุ ค่ายเยาวชนต่าง รวมถึงการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของชมรมในประเทศอียิปต์ รวมถึงการทำงานกับคณะกรรมการบริหารสมาคมในตำแหน่งเลขาฯ เมื่อปีที่แล้ว 2554
                  ปัจจุบันการศึกษาของนักศึกษาไทยในอียิปต์นั้นได้ก้าวมาสู่การ พัฒนาการศึกษาในรูปแบบใหม่นั้นก็คือการศึกษาแบบนักศึกษาปกครองตัวเอง เป็นการเรียนที่ต้องยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของนักศึกษาเองที่ต้องมีความพยายามในการที่จะไปเรียนและค้นหาความรู้ต่างๆ ให้มากขึ้นเพราะไม่อยู่ภายใต้ความกดดันใด นอกจากตัวนักศึกษาเอง และยังพบได้ว่าการศึกษาในระดับเตรียมภาษา และมัธยมต้นและมัธยมปลายในอียิปต์นั้นยังคงใช้การเรียนแบบพ่อปกครองลูก
                    ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาไทยศึกษามักจะอยู่ในระบบแบบนักศึกษาปกครองตนเอง ซึ่งก็ไม่ทั้งหมด ดังนั้นในภาพรวมของนักศึกษาไทยจากที่จำได้ที่ผ่านมานั้นอยู่ในระดับการพัฒนามากขึ้นโดยเห็นได้จากการเข้าเรียน การผลักดันให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น และที่เห็นได้ชัดคือการที่นักศึกษาใช้เวลาในการจบศึกษาน้อยลง
                    อยากให้รัฐบาลจัดนักเรียนทุนรัฐบาลให้แก่นักเรียนศาสนาอิสลามในต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสทางด้านการศึกษาแก่นักศึกษามุสลิมให้กว้างกว่าที่เป็นอยู่โดย ไม่จำกัดว่าต้องเรียนอะไร ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้โอกาสในการทำกิจกรรม เพื่อพัฒนาสามัคคี พัฒนาศีลธรรมและจิตใจ ภายใต้กรอบการให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งหวังผลทางวัตถุจนลืมหลังศีลธรรมอันดีระหว่างบุคคล
                   สถานทูตได้ให้ความตั้งใจที่จะสนับสนุนกับการสร้างความเข้าใจและเข้าถึงระหว่างนักศึกษา สร้างสรรค์กิจกรรมในเชิงคุณภาพมากขึ้น มากกว่าในเชิงปริมาณ เพื่อให้กิจกรรมได้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุดนั้นคือการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วม และเท่าเทียมกัน ทั้งนักศึกษาไทยในอียิปต์และในประเทศอื่นๆ หวังให้กระทรวงต่างประเทศได้ให้ทุนการศึกษาแก่ศึกษาที่เขาต้องการศึกษา ในสาขาศาสนาโดยไม่มีการจำกัดสาขาการที่เป็นสามัญเพียงอย่างเดียว อยากได้อาคารหอพักนักศึกษาไทยในกรุงไคโร เป็นแผนการลงทุนทางการศึกษาให้แก่นักศึกษาไทย ในไคโรอย่างถาวร เพราะตราบใดที่อัลอัซฮัรยังอยู่นักเรียนไทยของเราก็จะต้องอยู่คู่กับประเทศนี้ตลอดไป
                   นี่คือหนึ่งตัวแทนนักเรียนไทย ที่ก้าวมาทำหน้าที่เพื่อเป็นตัวแทนของทุกคน และเป็นตัวแทนเข้าหาสถานทูตในเรื่องการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นสะพานทอดไปยังประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจในการเป็นนักศึกษามุสลิมและเป้าหมายอย่างมุสลิมที่ควรจะเป็น แม้จะดูเป็นคนเงียบๆ แต่ก็คมกริบเช่นเดียวกัน ขอเป็นกำลังใจให้นายกฯ ทำงานเพื่อสังคมนักศึกษาไทยและประเทศไทยต่อไปครับ
-----------------------------------
(เปิดโลกการศึกษามุสลิม : ตอน: นายกสมาคมนักเรียนไทยไคโรฯ คนที่ 49 นสพ.คม ชัด ลึก 22 พ.ย 2554 )

ไม่มีความคิดเห็น: